แนวทางการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและมีจริยธรรม
อัตราการเพิ่มของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่วงอายุของผู้ใช้งานกว้างมากขึ้นตั้งแต่ วัยเด็กจนถึงผู้สูงวัย อินเทอร์เน็ตช่วยให้สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการการติดต่อสื่อสารทำได้สะดวก แต่ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตก็ได้สร้างปัญหาหลายประการให้กับผู้ใช้งาน เช่น ปัญหาทางด้านสุขภาพ เวลา และความเป็นส่วนตัว รวมถึงยังสร้างปัญหาที่นับว่าเป็นภัยสังคมอีกจำนวนไม่น้อย เช่น ปัญหาการล่อลวง ปัญหาการคุกคามทางเพศ ปัญหาการส่งข้อความหรือรูปภาพที่ผิดต่อหลักจริยธรรม ศีลธรรม และกฎหมาย ปัญหาการพนัน ปัญหาการวิจารณ์ และละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ปัญหาการขโมยข้อมูลสำคัญทั้งของส่วนบุคคลหรือองค์กร ดังนั้นการใช้งานไอทีจึงต้อง ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น
การป้องกันปัญหาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถ ทำได้ โดยศึกษาหาความรู้เพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง ปฏิบัติ ตามข้อตกลงการใช้งาน เลือกสนทนาบนอินเทอร์เน็ตเฉพาะ ในกลุ่มที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการนัดพบกับบุคคลที่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต ในส่วนของผู้ให้บริการควรมีมาตรการเพื่อช่วย ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ให้มีการลงทะเบียนสมาชิก ก่อนการใช้งาน มีระบบตรวจสอบและแจ้งเตือนรูปแบบ การสนทนาที่ไม่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
แนวทางปฏิบัติเมื่อพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตนักเรียนจะพบข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่มีการบิดเบือน หรือสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือส่วนรวม และหากนักเรียนพบข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น นักเรียนควรปฏิบัติดังนี้
- ปฏิเสธการรับข้อมูล สามารถทำได้โดยไม่เปิดดู ไม่บันทึกเก็บไว้ และไม่กดไลก์ (Like) เพราะการกระทำเหล่านี้เป็นแนวทางที่ป้องกัน ไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่น
- ไม่ส่งต่อ ไม่แชร์ ไม่เผยแพร่ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนกับข้อมูลที่ไม่เป็น ความจริงแล้ว ในบางกรณีอาจเข้าข่าย ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษ ทั้งจำและปรับ
- แจ้งครูหรือผู้ปกครอง หากนักเรียนประสบปัญหาที่ไม่สามารถจัดการหรือแก้ไขได้เอง ให้แจ้งครูหรือผู้ปกครองเพื่อดำเนินการแก้ไข หรือติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมไม่สิ้นสุด
- แจ้งผู้เกี่ยวข้องที่ดูแลเว็บไซต์นั้น กรณีที่ใช้งานข้อมูลจากผู้ให้บริการระบบรายใหญ่ เช่น Facebook, YouTube ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถรายงานปัญหา เกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น เนื้อหาที่มีการคุกคาม ทางเพศเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงส่งเสริมการก่อการร้าย การละเมิดลิขสิทธิ์หลังจากผู้ให้บริการได้รับแจ้ง จะมีการตรวจสอบเนื้อหา ดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน และดำเนินการกับผู้กระทำผิด เช่น ลบเนื้อหา ตัดสิทธิ์ (Block) หรือจำกัดสิทธิ์การใช้งาน
- แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจ หากผู้ดูแลระบบไม่จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ประสานงาน กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น แจ้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคม ที่เว็บไซต์ http://www.mdes.go.th เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ในสื่อสังคมออนไลน์จะพบว่ามีข้อมูลสารสนเทศที่หลากหลายที่เข้ามาให้เราพิจารณา การพิจารณาเนื้อหาก่อนการเผยแพร่ข้อมูล หรือการแชร์ข้อมูลนั้นก่อนที่นักเรียนจะเผยแพร่ข้อมูลใดลงในอินเทอร์เน็ต ควรพิจารณา ถึงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและการติดต่อสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ความถูกต้อง (Accuracy) ทรัพย์สิน (Property) และการเข้าถึง (Access) หรือเรียกย่อว่า พาพา (PAPA) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) ความเป็นส่วนตัว (Information Privacy) หมายถึง สิทธิ์ที่จะอยู่ตามลำพัง และเป็นสิทธิ์ที่เจ้าของสามารถที่จะควบคุมข้อมูลของตนเองในการเปิดเผยให้กับผู้อื่น สิทธิ์นี้ใช้ได้ครอบคลุมทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์การต่างๆ ปัจจุบันมีประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่เป็นข้อน่าสังเกตดังนี้
1.1 การเข้าไปดูข้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และการบันทึกข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์รวมทั้งการบันทึก-แลกเปลี่ยนข้อมูลที่บุคคลเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์และกลุ่มข่าวสาร
1.2 การใช้เทคโนโลยีในการติดตามความเคลื่อนไหวหรือพฤติกรรมของบุคคลซึ่งทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการผิดจริยธรรม
1.3 การใช้ข้อมูลของลูกค้าจากแหล่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ในการขยายตลาด
1.4 การรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล หมายเลขบัตรเครดิต และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อนำไปสร้างฐานข้อมูลประวัติลูกค้าขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปขายให้กับบุคคลอื่น
1.5 ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและสารสนเทศ จึงควรจะต้องระวังการให้ข้อมูล โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีการใช้โปรโมชั่น หรือระบุให้มีการ ลงทะเบียนก่อนเข้าใช้บริการ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต หรือที่อยู่อีเมล
2) ความถูกต้อง (Information Accuracy) ในการจัดทำข้อมูลและสารสนเทศให้มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือนั้น ข้อมูลควรได้รับการตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะนำเข้าฐานข้อมูล รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลใหม่ ความทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ ควรให้สิทธิแก่บุคคลในการเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลตนเองด้วย
3) ความเป็นเจ้าของ (Information Property) สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ หมายถึง กรรมสิทธิ์ในการ ถือครองทรัพย์สิน ซึ่งอาจเป็นทรัพย์สินทั่วไปที่จับต้องได้ เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ หรืออาจเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (ความคิด) ที่จับต้องไม่ได้ เช่น บทเพลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่สามารถถ่ายทอดและบันทึกลงในสื่อต่าง ๆ ได้ เช่น สิ่งพิมพ์ เทป ซีดีรอม เป็นต้น โดยในการคัดลอกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับเพื่อน เป็นการกระทำที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าโปรแกรมที่จะทำการคัดลอกนั้น เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ท่านมีสิทธิ์ในระดับใด
4) การเข้าถึงข้อมูล (Data Accessibility) ปัจจุบันการเข้าใช้งานโปรแกรม หรือระบบคอมพิวเตอร์ มักจะมีการกำหนดสิทธิ์ตามระดับของผู้ใช้งาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ กับข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นการธำรงไว้ซึ่งความลับของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น ก็ถือเป็นการผิดจริยธรรมเช่นเดียวกับการละเมิดข้อมูลส่วนตัว
แนวทางการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัยและมีจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ เพื่อความปลอดภัยในข้อมูลของตนเองและไม่ไปละเมิดบุคคลอื่นในการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักเรียนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่สมบูรณ์ ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและรู้เท่าทัน
|