การละเล่นพื้นบ้านของภาคกลางและภาคตะวันออก

กลองยาว กระบี่กระบอง หลุมเมือง การแข่งวัวลาน มวยไทย

การเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนา การเล่นในเทศกาลงานบุญ ตรุษ สงกรานต์ และการเล่นในฤดูน้ำหลาก มักเรียกการละเล่นพื้นเมืองนี้ว่าเป็น การเล่นเพลง การเล่นเพลงที่เกี่ยวเนื่องจากการทำนาก็เป็นการเล่นตามขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงนา เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงรำเคียว เพลงชักกระดาน เพลงพาดควาย เมื่อหมดฤดูทำนาก้มักจะเล่นเพลงปฏิพากย์ ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงชาวไร่ หรือระบำชาวไร่ เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงเหย่อย เพลงเทพทอง เพลงไก่ป่า และยังมีอีกมากแต่ปัจจุบันได้ล้าสมัยและสูญหายไปเป็นส่วนใหญ่

เถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว

 

ประเพณีการเล่นเถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาว สันนิษฐานว่าเป็นของพม่าเล่นมาก่อน ตั้งแต่ครั้งทำสงครามสมัยกรุงธนบุรี เครื่องประกอบการเล่นคือ กลองยาว กรับ ฉาบ และโหม่ง ผู้เล่นแต่งตัวเลียนแบบเครื่องแต่งกายพม่า หรือจะให้สวยงามตามความพอใจก็ได้ ใส่เสื้อแขนกว้างและยาวถึงข้อมือ นุ่งโสร่งตา มีผ้าโพกศีรษะ ผู้ตีกลองยาวบางพวกตีหกหัวหกก้น แลบลิ้นปลิ้นตา กลอกหน้า ยักคิ้วยักคอไปพลาง ผุ้ตีกลองจะต้องแสดงความสามารถในการตีกลองด้วยท่าทางต่างๆ เช่น ถองหน้ากลองด้วยสอก โขกด้วยคาง กระทุ้งด้วยเข่า โหม่ด้วยหัว และด้วยลีลาท่าทางต่างๆ ที่จะทำให้กลองยาวดังขึ้นได้ เถิดเทิงหรือการละเล่นเทิ้งบ้องกลองยาวเป็นประเพณีการเล่นในภาคกลาง นิยมเล่นในเวลาตรุษสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้องเดินเคลื่อนขบวน พอถึงที่ใดเห็นมีลานกว้างเป็นที่เหมาะก็หยุดตั้งวงเล่น และรำกันเสียพักหนึ่ง เคลื่อนไปเล่นไปสลับกัน

กลับด้านบน

 

กระบี่กระบอง

 

เป็นการละเล่นที่นำเอาอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ของนักรบไทยสมัยโบราณมาใช้ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ชาวบ้านต้องเผชิญกับภัยสงครามอย่างโชกโชนถึงกับเสียเมือง ซึ่งอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้ประหัตประหารกัน ได้แก่ ดาบ หอก ทวน แหลน หลาว และเครื่องป้องกัน 2 อย่าง คือ กระบี่ กระบอง ในยามสงบทหารจะฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับข้าศึกในยามสงคราม ปัจจุบัน กระบี่กระบองไม่ได้เป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้แล้ว แต่ยังฝึกซ้อมไว้สำหรับแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติ ด้านศิลปะป้องกันตัว นิยมฝึกหัดและเล่นกันในสถานศึกษา ชมรม และค่ายป้องกันตัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตตามประวัติศาสตร์ชาติไทย การเล่นจะมีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ได้แก่กลองแขก ฉิ่งฉาบ เพื่อให้เกิดความเร้าใจและความฮึกเหิมในบทบาทของการต่อสู้

กลับด้านบน

 

 

 

หลุมเมือง

 

อุปกรณ์และวิธีการเล่น

วิธีเล่น ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายนั่งอยู่คนละข้างหลุม (จำนวนหลุมมีไม่จำกัด) ตกลงกันว่าจะกองทุนคนละเท่าใด เอาเบี้ยหรือสิ่งอื่นใช้แทนเบี้ยมารวมกัน แล้วหยอดใส่หลุมไว้หลุมละเท่าๆ กันแต่ หลุมหน้าผู้เล่นทั้งสองต้องมากกว่าหลุมอื่น ซึ่งเรียกว่า หลุมเมือง เมื่อเริ่มเล่นฝ่ายใดเริ่มก่อนจะหยอดเบี้ยใส่หลุมไปเรื่อยๆ ตามลำดับจนหมดเบี้ย เมื่อหมดเบี้ยในมือก็หยิบเอาเบี้ยในหลุมถัดไปหยอดต่อทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบหลุมว่าง ผู้เล่นคนแรกจึงมีสิทธิกินเบี้ยทั้งหมดในหลุมถัดไป (ถัดจากหลุมว่าง) ผู้เล่นคนที่สองก็จะดำเนินการเล่นเหมือนคนแรก เมื่อพบหลุมว่างและกินเบี้ยหลุมถัดไป จึงผลัดกันเล่นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดทุนเลิกไป ผู้อื่นก็จะมาเล่นแทน

โอกาสหรือเวลาที่เล่น

นิยมเล่นในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ในปัจจุบันไม่ค่อยมีผู้ใดรู้จัก แต่ก็ยังมีการเล่นอยู่บ้างในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอกบินทร์บุรี

คุณค่า/แนวคิด/

สาระ

ลักษณะการเล่น เล่นเชิงพนันขันต่อ และเพลิดเพลินกับบรรยากาศในเทศกาลนั้นๆ มิได้คำนึงถึงเวลาหรือกังวลภาระกิจอื่นใด ผู้เล่นกีฬาหลุมเมืองส่วนมากจะเป็นผู้มีฐานะดี แรกเริ่มเจ้าเมืองต่างเมืองจะมาเล่นพนันขันต่อกัน หลังจากนั้นไม่จำกัด ใครมีฐานะดีก็เล่นทั่วไป

กลับด้านบน

 

การแข่งขันวัวลาน

 

อุปกรณ์และวิธีการเล่น

การแข่งขันวัวลานนี้ ชาวบ้านจะนำวัวมาวิ่งแข่งกันเป็นวงกลมในลานที่กำหนด โดยมีเสาเกียดซึ่งปักอยู่กลางถนนเป็นศูนย์กลาง ผูกเชือกพรวนของวัวแต่ละตัวเรียงกันตามลำดับ จากในเสาเกียดออกมาถึงริมลาน รวมจำนวน ๑๙ ตัว ซึ่งเจ้าของพวงวัวแต่ละพวงก็จะตระเตรียมวัวของตนมาทั้งวัวนอกและวัวในหรือวัวรอง
วัวรองหรือวัวใน จะมีทั้งหมด ๑๘ ตัว เป็นส่วนใหญ่ เจ้าของพวงวัวจะผูกวัวตามเชือกพรวนจากเสาเกียดกลางลานออกมา ตัวที่ฝีเท้าจัด แข็งแรง จะอยู่ด้านริมเชือกพรวน เป็นตัวที่ ๑๖, ๑๗, ๑๘ เพื่อเอาไว้วิ่งแข่งกับวัวนอกของพวงอื่นที่จะนำมาทาบประกบเป็นตัวที่ ๑๙
วัวนอก คือ วัวตัวที่เจ้าของพวงวัวถือว่าเก่งที่สุด มีกำลังมากและฝีเท้าจัด จะนำมาทาบกับวัวในของพวงวัวอื่น ผูกทับเป็นตัวที่ ๑๙ อยู่นอกสุดของลานเพื่อจะได้วิ่งแข่งกันเอาชนะวัวรองให้ได้ในการแข่งขันแต่ละเปิด ซึ่งแน่นอนว่าวัวตัวนอกสุดที่เรียกว่าวัวนอกนี้จะเป็นวัวที่ต้องวิ่งทำระยะทางไกลที่สุดและมีฝีเท้าจัดที่สุด
ถ้าวัวนอกวิ่งแซงวัวรองได้แล้วสามารถลากวัวรองตามไปอย่างไม่เป็นขบวนจนดิ้นหลุดขาดไป นั่นหมายถึงวัวนอกชนะ แต่ถ้าวัวรองวิ่งแซงนำวัวนอกได้วัวรองก็ชนะไป แต่ถ้าไม่สามารถเอาชนะกันได้ก็ถือว่าเสมอ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น

การแข่งขันวัวลานนี้ จะแข่งขันกันในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และออกพรรษาแล้ว ในช่วงเข้าพรรษาจะงดการแข่งขันโดยสิ้นเชิง

สาระ

"วัวลาน" เป็นการเล่นพื้นบ้านหรือกีฬาพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง จัดเป็นหัวใจของคนท้องถิ่น ด้วยว่า "วัว" เป็นสัตว์ที่คลุกคลีอยู่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาแต่ครั้งบรรพกาล การแข่งขันวัวลานจึงเป็นกีฬาของลูกผู้ชายชาวเมืองเพชรโดยแท้
การแข่งขันวัวลาน ได้วิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงมาจากการนวดข้าวของชาวไทยท้องถิ่นซึ่งใช้วัวเดินวนนวดข้าวในลานวงกลม วัวของใครมีพละกำลังดี แข็งแรงมากก็จะเดินวนนวดข้าวอยู่รอบนอก วัวตัวใดมีพละกำลังน้อยก็จะเดินคลุกอยู่วงในชิดเสากลางลาน ต่อมาคงมีการพนันขันต่อสนุกสนานกันขึ้นในวงนวดข้าว การแข่งขันวัวลานจึงถือกำเนิดขึ้นมาจากประเพณีการนวดข้าวดังกล่าวนี้ สำหรับในจังหวัดเพชรบุรีกล่าวกันว่า เริ่มมาจากตำบลท่าแร้ง ซึ่งมีชาวอิสลามมาเลี้ยงวัวอยู่มากก่อนตำบลอื่น จากนั้นก็ได้รับความนิยมขยายอาณาเขตจนนิยมกันไปทั้งเมือง

กลับด้านบน

 

มวยไทย

 

วิธีเล่น

อุปกรณ์

๑. เวที ต้องยกสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า ๔ ฟุต ไม่เกิน ๕ ฟุต สร้างอย่างแข็งแรงปลอดภัยตามแบบมาตรฐานกำหนด
๒. สังเวียน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๖ เมตร ถึง ๗.๒ เมตร อยู่ภายในเส้นเชือก ๓ เส้น (หรือ ๔ เส้น) เชือกแต่ละเส้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย ๑.๙ เซนติเมตร ขึงตึงติดกับเสาที่มุมทั้ง ๔
๓. นวม ปัจจุบันนักมวยต้องสวมนวมขนาด ๔ ออนซ์
๔. การแต่งกาย ผู้เข้าแข่งขันมวยไทยต้องสวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับ นอกจากนั้นอาจจะสวมปลอกรัดข้อเท้า อาจมีเครื่องรางของขลังผูกไว้ที่แขนท่อนบนก็ได้
๕. มงคล นักมวยไทยทุกคน จะต้องสวมมงคลที่ศีรษะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องสวมตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครู และร่ายรำจะถอดออกจากศีรษะเมื่อทำการแข่งขัน
๖. ท่ารำไหว้ครู นับว่าเป็นศิลปะของแต่ละสำนัก จะอบรมสั่งสอนกันมา แต่ลีลาการร่ายรำจะคล้าย ๆ กัน
๗. เครื่องดนตรีไทย ประกอบด้วย คือ ปี่ชวา ๑ กลอง ๑ ฉิ่ง ๑ ใช้จังหวะดนตรี ตอนร่ายรำ เป็นจังหวะช้า เมื่อเริ่มต่อสู้ ดนตรีจะใช้ทำนองเร่งเร้า
๘. กรรมการผู้ตัดสิน มีกรรมการชี้ขาดบนเวที ๑ คน กรรมการข้างล่าง ๒ คน เป็นผู้ตัดสินให้คะแนน มีผู้จับเวลา ๑ คน และแพทย์ประจำเวที ๑ คน
๙. กติกาการเล่น ชก ๕ ยก ยกละ ๓ นาที พักระหว่างยก ๒ นาที การแข่งขันแบ่งเป็นรุ่นคล้ายมวยสากล คือ ใช้อวัยวะต่อสู้ เช่น หมัด เท้า ศอก ชก เตะ ถีบ ทุบ ตี ถอง ฯลฯ ได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยไม่จำกัดที่ชก
๑๐. มุม แบ่งเป็นมุมแดง มุมน้ำเงิน จะเป็นที่พักให้น้ำของคู่ต่อสู้ทั้งสอง โดยมีพี่เลี้ยงคอยดูแล ให้น้ำดื่ม และนวด หรือประคบที่ช้ำ บวม ตามแต่ละกรณีขณะพัก ระหว่างเวลาพักยก ๒ นาที

วิธีเล่น

๑. การไหว้ครูและร่ายรำ เริ่มที่กราบ ๓ ครั้ง เพื่อระลึกถึงบิดา มารดา ครู อาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอพรพระคุ้มครองให้ชนะ ด้วยความปลอดภัยที่สุด แล้วร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบฉบับของครูที่สอนไว้ให้ ดนตรีจะบรรเลงจังหวะช้า ซึ่งเป็นศิลปที่แตกต่างจากชาติใด ๆ เป็นจุดที่น่าสนใจมาก และแสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติด้วย
๒. เริ่มการแข่งขัน ครูจะเป็นผู้ถอดมงคลจากศีรษะ หลังจากนั้นกรรมการผู้ชี้ขาดจะเรียกนักมวยทั้งสองออกจากมุมของตนจับมือกัน พร้อมกับทบทวนกติกาสำคัญ ๆ ให้
๓. เมื่อจบการแข่งขัน กรรมการผู้ตัดสินให้นักมวยทั้งสองจับมือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา

โอกาส/เวลาที่เล่น
มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ และป้องกันตัว สมัยโบราณเป็นการสู้แบบตัวต่อตัว สมัยปัจจุบันจะมีกติกามากขึ้น มวยอาชีพมีระเบียบกติกาเป็นทางการ มีหลักเกณฑ์ในการจัดการแข่งขันเพิ่มขึ้นเท่าที่หาหลักฐานได้ คือ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา
แบ่งได้ ๕ สมัย คือ
๑. สมัยสวนกุหลาบ
๒. สมัยท่าช้าง
๓. สมัยสวนสนุก
๔. สมัยหลักเมือง และสมัยเจ้าเชษฐ์
๕. สมัยปัจจุบัน ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินี เป็นประจำทุก ๆ วันพฤหัสบดี วันเสาร์ วันอาทิตย์ และมีเวทีชั่วคราวอื่น ๆ เช่น เวทีกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และตามต่างจังหวัด มีการแข่งขันทั้งมวยไทยและมวยสากล ตลอดจนได้รับนักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขันและจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศด้วย

คุณค่า/แนวคิด/

สาระ

ผู้ได้รับการฝึกวิชามวยไทยจนมีฝีมือแล้ว ย่อมทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม เช่น ทำให้มีความมั่นใจในตนเอง เกิดความกล้าหาญ มีอำนาจบังคับจิตใจดีขึ้น มีความสุขุมเยือกเย็น ไม่ดีใจหรือเสียใจง่าย มีความพินิจพิเคราะห์และรู้จักใช้เหตุผล มีความมานะอดทนในการสร้างสมรรถภาพทางกาย มีเชาว์และไหวพริบ ไวทันต่อเหตุการณ์และสามารถใช้เป็นศิลปะป้องกันตัว มีความเข้มแข็งอดทน ไม่ท้อแท้ หรือจำนนต่อเหตุการณ์ง่าย ๆ และมีความรักสุจริตยุติธรรม
สาระสำคัญของการเรียนมวยไทย มีดังนี้
๑. ทำให้ร่างกายแข็งแรง-อดทน
๒. ทำให้เกิดความเร็ว-คล่องตัว
๓. มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
๔. เป็นการป้องกันตัว
๕. เป็นการบริหารทุกส่วนของร่างกาย
๖. ช่วยรักษา ศิลปะประจำชาติ

กลับด้านบน